ประวัติกองดุริยางค์ทหารอากาศ
กองทัพอากาศพัฒนาหน่วย
เมื่อกองทัพอากาศ ได้สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๔๘๐ โดยขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม ทหารทุกหน่วยในกองทัพอากาศเปลี่ยนเครื่องแบบจากสีขี้ม้า เป็นสีเทา เปลี่ยนยศ และเครื่องหมาย เป็นทหารอากาศ
ในขณะนั้น กองทัพอากาศ มีกองบินซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลโคกกระเทียม หลังเขาพระบาทน้อย ครั้งแรก (กรมอากาศยาน) มีกองบิน ๔ กองบินเดียว ต่อมากองทัพอากาศได้ย้ายกองบินที่ ๒ จากดอนเมืองมารวมด้วย โดยตั้งอยู่ด้านหลังของเขาพระบาทน้อย กำลังพลของหน่วยเพิ่มมากขึ้น กองทัพอากาศจึงได้เริ่มพัฒนาหน่วยตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๐ ดังนี้
๑. บรรจุกำลังพลเพิ่มขึ้น
- ให้กองบินที่ตั้งอยู่ในบริเวณ พื้นที่จังหวัดลพบุรีขยายบรรจุกำลังพลเพิ่มขึ้น
๒. การสวัสดิการ
๒.๑ สร้างสโมสรนายทหารสัญญาบัตร และนายทหารชั้นประทวน
๒.๒ จัดตั้งหน่วยขลุ่ย - กลอง ประจำกองบิน เพื่อทำหน้าที่เดินนำแถวทหารไปผลัดเปลี่ยนกองรักษาการณ์
๒.๓ จัดให้มีการแสดงลิเก (นาฏดนตรี) ภายในหน่วยทุกวันเสาร์ ผู้แสดงลิเก คือ ทหารและครอบครัวในหน่วย
๒.๔ บรรจุครูแตร เข้าประจำการ เพื่อฝึกสอนพลทหารและบุตรหลานครอบครัวในหน่วยให้ปฏิบัติเครื่องดนตรี ครูแตรที่ได้รับการบรรจุ คือ จ่าอากาศโท ขวัญ น้อยรอด เดิมรับราชการอยู่กรมมหรสพหลวง ทหารรักษาวัง ซึ่งถูกยุบตอนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕
ขยายหน่วย “ ขลุ่ย - กลอง ” เป็น “ แตรวง ”
เมื่อตั้งหน่วย ขลุ่ย - กลอง จนสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว มีทหารบางคนสามารถปฏิบัติเครื่องดนตรีสากลได้อีกหลายประเภท เช่น คลาริเนท, ทรัมเปท, ทรอมโบน, แซกโซโฟน จ่าอากาศโท ขวัญ น้อยรอด ครูผู้ฝึกสอนมีความคิดเห็นว่า ควรจะขยายหน่วย “ขลุ่ย - กลอง” ให้เป็นหน่วย “แตรวง” ขนาดเล็ก เพื่อใช้บรรเลงรับลิเกแทนวงปี่พาทย์ และการบรรเลงอื่นๆของหน่วยจึงเสนอความคิดเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี หน่วย “แตรวง” จึงถือกำเนิดที่กองบินน้อยที่ ๔ ตำบล โคกกระเทียม จังหวัดลพบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๒
กองแตรวงทหารอากาศ
ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ กองทัพอากาศได้จัดตั้งหมู่แตรวงขึ้นที่ดอนเมือง หน่วยตั้งอยู่ที่ทิศตะวันตกของสนามบินใกล้กับกองเสนารักษ์เดิม ปัจจุบันเป็นท่าอากาศยานกรุงเทพฯ อาคารเป็นโรงไม้หลังคามุงจาก ฝาทำด้วยไม้ไผ่สาน เมื่อฝนตกลมพัดมาแรงๆน้ำฝนจะไหลเข้าไปภายใน
กองทัพอากาศได้บรรจุ เรืออากาศตรี โพธิ์ ศานติกุล ซึ่งมีความรู้ ความสามารถเรื่องดนตรีสากลเป็นอย่างดี เดิมรับราชการอยู่กรมมหรสพหลวงทหารรักษาวัง มาจัดตั้ง กองแตรวงทหารอากาศ
พ.ศ. ๒๔๘๔ กองทัพอากาศมีคำสั่ง ทอ.ที่ ๒๑๐/๒๐๘๙๕ ลงวันที่๑ พ.ค. ๒๔๘๔ ให้จัดตั้งกองแตรวงทหารอากาศ โดยมีเรืออากาศตรี โพธิ์ ศานติกุล ดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองแตรวงทหารอากาศ มีกำลังพลเพียงไม่กี่คน
การบังคับบัญชา กองแตรวงทหารอากาศ ขึ้นตรงต่อกองบังคับการทหารอากาศ โดยมีนาวาอากาศเอกหลวงเจริญ จรัมพร ดำรงตำแหน่ง หัวหน้ากองบังคับการ กองทัพอากาศ
๗ มิ.ย. ๒๔๘๔ กำลังพลจากหน่วย แตรวง กองบินน้อยที่ ๔ จังหวัดลพบุรี รวม ๗ คน คือ
๑. จ่าอากาศโท ขวัญ น้อยรอด ๒.พลทหาร วิชัย ดั้นเจริญ ๓. พลทหาร สันต์ โตเจริญ ๔. พลทหาร สง่า อารัมภีร ๕. พลทหาร ไฉน ไลยะเกษ ๖.พลทหาร กาจ กุลเศวต ๗. จ่าอากาศโท น้อม ฯ (ปฏิบัติหน้าที่สารบรรณ)ย้ายมาสังกัดกองแตรวงทหารอากาศ เปลี่ยนเครื่องหมาย บน. ๔ เป็น ตว.ทอ. พร้อมทั้งนำเครื่องดนตรีที่ติดตัวมาจาก บน. ๔ มอบให้กองแตรวงทหารอากาศ ภายในกองแตรวงทหารอากาศมีเปียโนอยู่ ๑ หลัง และเครื่องดนตรีอีกไม่กี่ชิ้น ขณะนั้นมีทหารอากาศที่พอปฏิบัติเครื่องดนตรีได้จากกองบินอื่นๆมาเยี่ยม และบางคนจะขอย้ายมาสังกัดกองแตรวงทหารอากาศ แต่เห็นสภาพโรงหลังคามุงจาก ฝาไม้ไผ่ขัดแตะและสภาพที่ฝึกซ้อมรวมทั้งจำนวนนักดนตรี เขาก็ส่ายหน้ากลับหน่วยเดิมกันหมด เพราะบางคนเป่าได้แต่แตรเดี่ยว ซึ่งใช้ในเวลาปลุก, เวลานอน, เวลารวมพล และแจ้งเหตุร้ายต่างๆ เขาอยู่กองบินใหญ่ๆมีอัตรา และตำแหน่งมากมาย ต่อมาทหารแตรเหล่านี้ ได้เลื่อนยศเป็นนายเรืออากาศตรี ถึงนาวาอากาศเอกกันหมด ไม่เหมือนทหารที่เป็นนักดนตรีบรรเลงรับราชการตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๔ จนครบอายุ ๖๐ ปี เกษียณอายุราชการแล้ว บางคนยังมียศแค่พันจ่าอากาศเอกเท่านั้น
สถานที่ฝึกซ้อมกองแตรวง ใช้บริเวณโรงอาหารของกองเสนารักษ์ ทหารอากาศ เนื่องจากดอนเมืองสมัยนั้นอยู่ไกลมากและบ้านพักสำหรับข้าราชการกองแตรวงทหารอากาศก็ไม่มีให้จึงต้องพักอยู่กรุงเทพฯ การเดินทางไปปฏิบัติงานก็ไม่สะดวกผู้บังคับบัญชาจึงให้ไปฝึกซ้อมที่กองภาพยนตร์ทหารอากาศ ทุ่งมหาเมฆ
ย้ายกองแตรวงทหารอากาศ
๘ ธ.ค. ๒๔๘๔ ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอีกหลายจังหวัดในภาคใต้ ใกล้กรุงเทพฯที่สุดคือ ตำบลบางปู จังหวัดสมุทรปราการ กองทัพญี่ปุ่นเจรจากับคณะรัฐบาล ซึ่งมี จอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี กองทัพญี่ปุ่นไม่มีเจตนาจะรุกรานประเทศไทย เพียงขอเป็นทางผ่านไปยังประเทศพม่าและมาเลเซียรัฐบาลจึงสั่งให้หยุดการสู้รบ ต่อมาทหารญี่ปุ่นขอเข้าอยู่บริเวณดอนเมือง ด้านทิศตะวันตกใกล้สถานีรถไฟดอนเมืองหน่วยราชการของ กองทัพอากาศ ต้องย้ายมาอยู่ด้านทิศตะวันออกของสนามบินดอนเมืองใกล้ถนนพหลโยธิน กองโรงเรียนการบินย้ายไปอยู่สนามบินจังหวัดนครราชสีมา รุ่งขึ้นวันที่ ๙ ธ.ค.๒๔๘๔ สนามบินดอนเมืองไม่มีเครื่องบินแม้แต่เครื่องเดียว ทหารอากาศทุกหน่วยที่มีที่ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกตรงข้ามสถานีรถไฟดอนเมือง ย้ายมาหมดทุกหน่วยคงเหลือแต่กองรักษาการณ์อยู่ด้านประตูเข้าออก ส่วนกองแตรวงคงมี พลทหาร สง่า อารัมภีร และ พลทหาร สันต์ โตเจริญ ประจำอยู่ ๒ คนเท่านั้น
กำลังพล กองแตรวงทหารอากาศรุ่นแรก จำนวน ๙ คน
๑. เรืออากาศตรี โพธิ์ ศานติกุล ผู้บังคับกองแตรวง
๒. จ่าอากาศโท โพธิ์ ชูประดิษฐ์ รองผู้บังคับกองแตรวง
๓. จ่าอากาศโท น้อม ปฏิบัติหน้าที่งานสารบรรณ
๔. จ่าอากาศโท ขวัญ น้อยรอด ทรอมโบน
๕. พลทหาร วิชัย ดั้นเจริญ ทรัมเปท
๖. พลทหาร สันต์ โตเจริญ ไวโอลิน
๗. พลทหาร สง่า อารัมภีร คลาริเนท
๘. พลทหาร ไฉน ไลยะเกษ เบส
๙. พลทหาร กาศ กุลเศวต อัลโตแซกโซโฟน
กองแตรวง กองภาพยนตร์ทหารอากาศ มีผู้บังคับบัญชารุ่นแรก คือ
๑. นาวาอากาศเอก สกล รสานนท์ ผู้อำนวยการ กองภาพยนตร์ทหารอากาศ
๒. พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) ผู้อำนวยการ โรงเรียนดนตรี กองภาพยนตร์ทหารอากาศ
๓. เรืออากาศตรี โพธิ์ ศานติกุล ผู้บังคับกองแตรวง กองภาพยนตร์ทหารอากาศ
๔. จ่าอากาศโท โพธิ์ ชูประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้บังคับกองแตรวง กองภาพยนตร์ทหารอากาศ
พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) มารับราชการในกองทัพอากาศ
ผู้อำนวยการกองภาพยนตร์ทหารอากาศ ซึ่งเรียนเชิญอาจารย์“พระเจนดุริยางค์” (ปิติ วาทยะกร) จากกรมศิลปากรให้มาเป็นผู้บริหารจัดตั้งวงดนตรีให้ถูกต้องตามมาตรฐานสากลกองทัพอากาศได้มีคำสั่งบรรจุศาสตราจารย์ “พระเจนดุริยางค์” (ปิติ วาทยะกร)รับราชการในกองภาพยนตร์ทหารอากาศ เมื่อ มิถุนายน ๒๔๘๔
เมื่อพระเจนดุริยางค์ย้ายจากกรมศิลปากร มารับราชการสังกัดกองภาพยนตร์ทหารอากาศ ได้ดำเนินการจัดตั้งวงดนตรีมาตรฐานสากลขึ้นจำนวน ๓ วง คือ
๑. วง “โยธวาทิต” (MILITARY BAND)
๒. วง “จุลดุริยางค์” (ORCHESTRA)
๓. วง “หัสดนตรี” ( JAZZ BAND)
พระเจนดุริยางค์ได้ดำเนินการฝึกซ้อมโดยมี เรืออากาศโทโพธิ์ ศานติกุลและจ่าอากาศเอกโพธิ์ ชูประดิษฐ์ เป็นผู้ช่วย พร้อมทั้งมอบให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ควบคุมแต่ละวงดังนี้
- เรืออากาศโท โพธิ์ ศานติกุล และจ่าอากาศเอก โพธิ์ ชูประดิษฐ์ ควบคุมการฝึกซ้อมวง “จุลดุริยางค์”
- จ่าอากาศโท เสงี่ยม กาศสุวรรณ ควบคุมการฝึกซ้อมวง “หัสดนตรี”
- จ่าอากาศโท ถวัลย์ วรวิบูลย์ ควบคุมการฝึกซ้อมวง “โยธวาทิต”